เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 12. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนี้ ฉะนั้น
พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่ามีพระปัญญาดี รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ...
ละการกำหนด มีพระปัญญญาดี
คำว่า ผู้นาคะ1 ในคำว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้
นาคะแล้ว จึงจักกลับไปจากที่นี้ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ
เพราะไม่ทรงทำความชั่ว พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง พระผู้มี
พระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ
เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างนี้
คำว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้วจึงจักกลับ
ไปจากที่นี้2 อธิบายว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟัง คือ ครั้นได้สดับ เรียน ทรงจำ
เข้าไปกำหนดแล้วซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำ
พร่ำสอนของพระองค์ จึงจักกลับ คือ ดำเนินไป จากไป ไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่จากที่นี้
รวมความว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้วจึงจักกลับไป
จากที่นี้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ทรงละความเพลิดเพลินได้ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงจักกลับไปจากที่นี้

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 27/145-146
2 จากที่นี้ ในที่นี้หมายถึง จากปาสาณกเจดีย์ (ขุ.จู.อ. 70/46)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :260 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 12. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
[71] (ท่านภัทราวุธทูลถามว่า)
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (2)
คำว่า ชนต่าง ๆ ในคำว่า ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน
(ในที่นี้) ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา
และมนุษย์
คำว่า จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) อธิบายว่า จากแคว้นอังคะ
มคธ กลิงคะ กาสี โกศล วัชชี มัลละ วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ
อวันตี โยนะ(คันธาระ) และกัมโพชะ
คำว่า มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) อธิบายว่า มาชุมนุมกัน คือ มาพร้อมกัน
มารวมกัน มาประชุมกัน (ในที่นี้) รวมความว่า ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน (ในที่นี้)

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าวีระ
คำว่า ข้าแต่พระวีระ ในคำว่า ข้าแต่พระวีระ ... หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะ
ได้ฟัง)พระดำรัสของพระองค์ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคผู้วีระ มีพระวิริยะ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงองอาจ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีภาคทรงให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงหมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าวีระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :261 }